เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๑ งานแนะแนวอาชีพและการจัดหางาน วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร ได้เข้าร่วมประชุมสัมมนาผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๑ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑. พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๐ สาระสำคัญคือ
๑.๑ สาเหตุของการปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุน แก้ไขปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดของการดำเนินงานทางด้านกู้ยืมและการติดตามหนี้
๑.๒ หลักสำคัญของการปรับปรุง พรบ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๐ พิจารณา ๓ ด้าน คือ ด้านผู้กู้ยืม ด้านองค์กรนายจ้าง และด้านกู้ยืมและการบริหารหนี้ และการติดตามหนี้อย่างเป็นระบบ
๒. ระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องกับการให้กู้ยืม ตาม พ.ร.บ. กยศ. พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่เกี่ยวข้องกับการให้กู้ยืม
๒.๑ ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการที่สถานศึกษาจะเข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุน พ.ศ. ๒๕๖๐
๒.๒ ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และการชำระเงินคืนกองทุน พ.ศ. ๒๕๖๐
๒.๓ ประกาศคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เรื่อง การกำหนดลักษณะของเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ขอบเขตการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ประเภทวิชา สถานศึกษาหรือระดับชั้นการศึกษา และหลักสูตรที่จะให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๑
๒.๔ ประกาศคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ซึ่งจะขอกู้ยืมเงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๐
๒.๕ ประกาศคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะขอกู้ยืมเงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๐
๒.๖ ประกาศคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เรื่อง กำหนดการให้กู้ยืมเงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๑
๒.๗ สถานศึกษาที่ประสงค์จะเข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุนต้องทำบันทึกข้อตกลง (MOU) และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงโดยเคร่งครัด
๓. การให้กู้ยืม ในปีการศึกษา ๒๕๖๑ สรุปสาระสำคัญดังนี้
๓.๑ การให้กู้ยืมในปีการศึกษา ๒๕๖๑ กยศ.จะพิจารณาจาก ๒ ลักษณะคือ ขาดแคลนทุนทรัพย์ และสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักของการผลิตกำลังคน และมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
๓.๒ การจัดทำบันทึกข้อตกลงการเข้าร่วมการดำเนินงานกองทุน ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาใหม่ สถานศึกษาเก่า หรือสถานศึกษาที่ถูกเพิกถอนจะต้องทำบันทึกข้อตกลง และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงโดยเคร่งครัด
๓.๓ การเปิดระบบ e-studentloan ปีการศึกษา ๒๕๖๑ สำหรับผู้กู้ยืม ดังนี้
๓.๓.๑ สถานศึกษาที่จัดส่งบันทึกข้อตกลงและเอกสารประกอบให้กองทุนถูกต้องครบถ้วน เมื่อกองทุนตรวจสอบเอกสารเรียบร้อยแล้ว กองทุนจะเปิดระบบ e-Studentloan ให้กับผู้กู้ยืมของสถานศึกษาต่อไป
๓.๓.๒ การจัดสรรวงเงินผู้กู้ยืม ปีการศึกษา ๒๕๖๑ ระดับการศึกษา ปวช จะอยู่ในช่วงเปิดภาคเรียนคือเดือนพฤษภาคม
๔. ระบบการให้กู้ยืมสำหรับสถานศึกษา ในปีการศึกษา ๒๕๖๑
๔.๑ ผู้กู้ยืมจะต้องลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้งานระบบ e-Studentloan
๔.๒ นำรหัส OTP มายืนยันการลงทะเบียน OTP หรือ One Time Password คือชุดรหัสผ่านใช้ครั้งเดียวที่ระบบของเราสร้างขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต ขั้นตอนที่ผู้ยืมจะต้องยืนยันรหัส OTP คือ แบบคำขอกู้ยืมเงิน และแบบคำยืนยันขอกู้ยืมเงิน
๔.๓ ตรวจสอบข้อมูลบัญชีผู้กู้ กยศ. ได้ที่ตู้บริการเอนกประสงค์ภาครัฐ (Convenience KIOSK) สามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐ แบบครบวงจร ในรูปแบบดิจิทัล ด้วยการยืนยันตัวตนผ่านบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งออกแบบมาในรูปแบบบัตร Smart Card
๔.๔ กยศ.เปิดบริการรับชำระหนี้ด้วยรหัสการชำระเงิน (Barcode) ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ไปรษณีย์ไทย และธนาคาร สำหรับผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้ สามารถพิมพ์รหัสการรับชำระเงิน (Barcode) ได้ที่หน้า Website กองทุนฯ เมนูตรวจสอบยอดหนี้ และนำไปชำระเงินผ่านช่องทางได้ ดังนี้ เคาน์เตอร์เซอร์วิส ไปรษณีย์ไทย ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารกสิกรไทยธนาคารกรุงเทพ
๔.๕ การชำระหนี้ด้วย QR Code ผ่าน Application KTB Netbank ของธนาคารกรุงไทย ให้บริการครบวงจรบนอินเทอร์เน็ต สะดวกง่ายดาย ปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ช่วยสร้างความมั่นใจในการใช้บริการ